ศูนย์สารสนเทศทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรม ทช. ร่วมกับสาขาวิชาเทคโนโลยีภูมิศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร จัดอบรมหลักสูตร "การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Spatial Analysis)" วันที่ 25 - 28 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรม เมธาวลัย ชะอำ จ.เพชรบุรี
จากความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่มีคุณค่ามหาศาล และจากข้อมูลด้านทรัพยากรที่มีเป็นจำนวนมาก ที่กรมฯ ได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงจนมีความก้าวหน้าไปในระดับหนึ่ง โดยเน้นให้ข้อมูลทั้งหมดอ้างอิงในรูปแบบของข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS)
ดังนั้น เพื่อให้เกิดการต่อยอดการพัฒนาชั้นข้อมูลภูมิสารสนเทศของกรม ไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และสะดวกต่อผู้ปฏิบัติงาน ในการวางแผนการจัดการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และคุ้มครองป้องกันทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้อย่างเป็นระบบแล้ว การนำเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Spatial Analysis) มาช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของกรม จะช่วยให้กรมฯ สามารถวางแผนงานในด้านต่างๆ บนพื้นฐานหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้มากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ดังนั้น เพื่อให้หน่วยงานทุกระดับของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีความรู้ความเข้าใจ และสามารถพัฒนาแนวทางการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Spatial Analysis) ได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นในการจัดฝึกอบรมในครั้งนี้ขึ้น
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. เพื่อให้เข้าใจและทราบหลักการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ 2. เพื่อให้เข้าใจกระบวนการทำงาน วิธีการ และได้ฝึกปฏิบัติการในการใช้เครื่องมือต่างๆ ในขั้นตอนของการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ และ 3. เพื่อให้เข้าใจและสามารถปฏิบัติการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ได้อย่างเป็นระบบ ด้วยการปฏิบัติการจริง และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ในงานด้านต่างๆ ที่รับผิดชอบ
ผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯ ในครั้งนี้ เป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้จัดทำและบริหารจัดการข้อมูลภูมิสารสนเทศของหน่วยงาน โดยมาจากหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องรวม 4 หน่วยงาน ได้แก่ สวพ. สทช. สปล. และ สปก. รวมทั้งสิ้น 33 คน
โดยมีแบ่งการฝึกอบรมออกเป็นภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เกี่ยวกับ 1. การเรียนรู้เกี่ยวกับระบบ และการใช้งานโปรแกรมที่เกี่ยวข้อง 2. การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Analysis) ในลักษณะต่าง ๆประกอบด้วย การวิเคราะห์การซ้อนทับและการวิเคราะห์สิ่งใกล้เคียง การวิเคราะห์การประมาณค่าเชิงพื้นที่ การวิเคราะห์ค่าสถิติเชิงพื้นที่ การวิเคราะห์ภูมิประเทศ (Terrain Analysis) การวิเคราะห์โครงข่าย (Network Analysis) การค้นหาสถานที่ใกล้เคียง การค้นหาสถานที่ เป็นต้น
สำหรับวิทยากรในการฝึกอบรมในครั้งนี้ กรมฯ ได้รับเกียรติจากอาจารย์อุเทน ทองทิพย์ และคณะ ซึ่งเป็นคณะวิทยากรจากสาขาวิชาเทคโนโลยีภูมิศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร ที่ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรตลอดหลักสูตร.