ศสท. ร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดฝึกอบรมหลักสูตร "การพัฒนาและเผยแพร่ข้อมูลภูมิสารสนเทศทางอินเตอร์เน็ต (Internet GIS Technology and Web Map Service)" วันที่ 10 – 14 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรม ทรี ซิกตี้ ไฟว์ พัทยาเหนือ จ.ชลบุรี
จากความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งทรัพยากรที่มีคุณค่ามหาศาล ข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจึงนับเป็นอีกหนึ่งฐานข้อมูลที่มีความสำคัญ การนำเทคโนโลยีระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของกรมในปัจจุบันมีการพัฒนาข้อมูลมาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ
ดังนั้น เพื่อให้เกิดการต่อยอดการพัฒนาข้อมูลภูมิสารสนเทศของกรม ไปสู่สาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและสะดวกต่อผู้ใช้งาน ทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของกรม หน่วยงานภายนอก และสาธารณะชนทั้งหลาย การพัฒนาระบบเผยแพร่ข้อมูลภูมิสารสนเทศทางอินเตอร์เน็ต จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่สามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี เพื่อให้หน่วยงานที่จัดทำข้อมูลภูมิสารสนเทศสามารถนำเข้าและเผยแพร่ ตลอดจนแลกเปลี่ยนชั้นข้อมูลระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น เพื่อให้หน่วยงานทุกระดับของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีความรู้ความเข้าใจและสามารถพัฒนาและจัดสร้างระบบการให้บริการข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่รับผิดชอบร่วมกันบนแผนที่ออนไลน์ได้อย่างเป็นระบบ ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นในการจัดฝึกอบรมในครั้งขึ้น
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. เพื่อสามารถค้นหา เข้าถึง และใช้ประโยชน์ข้อมูลภูมิสารสนเทศที่จัดทำและเผยแพร่เป็นไปตามมาตรฐาน OGC และ ISO 2. เพื่อให้เข้าใจเทคนิคการออกแบบเบื้องต้นและสามารถจัดสร้าง OGC Web Map Service โดยการใช้ซอฟแวร์รหัสเปิด 3. เพื่อให้หน่วยงานสามารถให้บริการข้อมูลแผนที่ออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ต และการใช้งาน Application ที่เกี่ยวข้องได้ ตลอดจนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ในงานด้านต่างๆ ที่รับผิดชอบ
ผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯ ในครั้งนี้ เป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้จัดทำและบริหารจัดการข้อมูลภูมิสารสนเทศของหน่วยงาน โดยมาจากหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องรวม 4 หน่วยงาน ได้แก่ สวพ. สทช. สปล. และ สปก. รวมทั้งสิ้น 45 คน
โดยมีแบ่งการฝึกอบรมออกเป็นภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เกี่ยวกับ 1. การเรียนรู้โครงสร้างของระบบ และการใช้งานโปรแกรมที่เกี่ยวข้อง 2. การกำหนดค่า การสร้างแผนที่ และมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 3. การสร้างและการใช้งานฐานข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ 4. การนำเข้า ปรับปรุง และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเชิงพื้นที่
วิทยากรในการฝึกอบรมในครั้งนี้ กรมฯ ได้รับเกียรติจาก ท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สรรเพชญ ซื้อนิธิไพศาล และคณะ จากภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้เกียรติเป็นวิทยากรตลอดหลักสูตร