ศสท. ร่วมกับคณะวิทยากรจากบริษัท ESRI จัดฝึกอบรมหลักสูตร "การจัดการข้อมูลภูมิสารสนเทศทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง : GIS" วันที่ 25 – 29 มิถุนายน 2555 ณ โรงแรมเมธาวลัย จังหวัดเพชรบุรี
จากความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งทรัพยากรที่มีคุณค่ามหาศาล ข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจึงนับเป็นอีกหนึ่งฐานข้อมูลที่มีความสำคัญ การนำเทคโนโลยีระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน ทั้งการจัดทำแผนที่และฐานข้อมูลย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านการบริหารจัดการ รวมถึงการติดตามและเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากร ตลอดจนสามารถนำไปเผยแพร่แก่ประชาชนและผู้ที่มีความสนใจ ได้ตระหนักและตื่นตัวในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และยังเป็นแนวทางในการวางแผน จัดการ ฟื้นฟู และอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสมและยั่งยืน
ภูมิสารสนเทศ (Geospatial Information) นับเป็นสารสนเทศที่มีคุณค่า จะเห็นได้จากทุกหน่วยงานใช้งบประมาณจำนวนมากในการลงทุนจัดทำฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศขึ้นใช้งานภายในของตนเอง โดยฐานข้อมูลที่ดีนั้นเมื่อจัดทำขึ้นแล้วจะต้องสามารถนำไปแบ่งปันและแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ หรือเผยแพร่สู่สาธารณะได้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการของข้อมูลและคุ้มค่าแก่การลงทุน
ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) เป็นเครื่องมือที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการตัดสินใจและวิเคราะห์ปัญหาในเชิงพื้นที่ ระบบดังกล่าวถูกนำมาใช้ประโยชน์ในงานด้านต่างๆ อย่างแพร่หลาย รวมถึงด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง ดังนั้น การเข้าใจในกระบวนการทำงานของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์กับงานของตนเองได้ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานภูมิสารสนเทศจึงควรมีความรู้ความเข้าใจในหลักการ เครื่องมือ กระบวนการดำเนินงาน และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวแบบบูรณาการ เพื่อให้การวางแผน และการตัดสินใจดำเนินงานด้านต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และนำไปสู่การบรรลุตามภารกิจของกรมในการเป็น “ศูนย์ข้อมูลกลางเกี่ยวกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศ”
กองแผนงาน (ศูนย์สารสนเทศ) ได้ตระหนักถึงความจำเป็นและความสำคัญของระบบดังกล่าว จึงได้จัดฝึกอบรมหลักสูตร “การจัดการข้อมูลภูมิสารสนเทศทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (GIS)” ในครั้งนี้ขึ้น
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้เรียนรู้และเข้าใจหลักการพื้นฐาน กระบวนการทำงาน วิธีการและเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการจัดการข้อมูลภูมิสารสนเทศ 2. เพื่อให้เข้าใจความสัมพันธ์และความเชื่อมโยง ตลอดจนประโยชน์ของเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (GIS RS และ GPS) 3. เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถบริหารจัดการ นำเข้า แก้ไขข้อมูล สืบค้น แสดงผลข้อมูลและสร้างแผนที่ ตลอดจนนำไปประยุกต์ใช้งานตามภารกิจของหน่วยงานตนเองได้
ผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯ ในครั้งนี้ เป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้จัดทำและบริหารจัดการข้อมูลภูมิสารสนเทศของหน่วยงาน โดยมาจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 4 หน่วยงาน ได้แก่ สวพ. สทช. สปล. และ สปก. รวมทั้งสิ้น 30 คน โดยมีหัวข้อการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ดังนี้
1. โครงสร้างพื้นฐานภูมิสารสนเทศของประเทศไทย (NSDI) / หลักการพื้นฐานระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
2. การอ่านแผนที่ ระบบพิกัด มาตราส่วน ทิศทาง ระยะทางในแผนที่
3. การสร้างฐานข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
4. การนำเข้า ปรับปรุง และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเชิงพื้นที่
5. การนำเข้า ปรับปรุง ข้อมูลเชิงบรรยายและการเชื่อมโยงและติดต่อกับฐานข้อมูล
6. การสืบค้นข้อมูลเชิงพื้นที่และเชิงบรรยาย
7. การวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ (Spatial Relationship and Spatial Analysis)
8. การวิเคราะห์การประมาณค่าเชิงพื้นที่ (Spatial Interpolation)
9. การสร้างแบบจำลองอย่างง่าย (Model Builder)
10. การสร้างและนำเสนอแผนที่ในรูปแบบต่างๆ
สำหรับวิทยากรในการฝึกอบรมในครั้งนี้ กรมฯ ได้รับเกียรติจากนางสาวเจนสุดา พูลสมบัติ ตำแหน่ง Senior System in Structure บริษัท ESRI และคณะ ที่ให้เกียรติเป็นวิทยากรตลอดหลักสูตร